รวมปัญหาหลัก
นครขอนแก่น
จุดเสี่ยงเยอะ
มีจุดเกิดอุบัติเหตุซ้ำซากกลางเมืองกว่า 57 จุด และถนนสำคัญหลายสายไม่มีทางเท้า ทางเท้าที่มีอยู่ก็ส่วนใหญ่ยังไม่เรียบ มีสิ่งกีดขวาง ไม่มีร่มเงา และไม่ต่อเนื่อง
รถติด
เพราะขาดการกวนขันจราจร ขาดสิ่งอำนวยความสะดวกในการบริหารจัดการจราจรและการขับขี่ รวมถึงขาดทางเลือกในการเดินทางของประชาชน
ขนส่งสาธารณะถูกละเลย
รู้ว่ามีอยู่ แต่ไม่รู้ว่าจะมาเมื่อไหร่ และไม่รู้ว่าจะถึงปลายทางหรือไม่ ผู้ใช้บริการน้อย เนื่องจากคนหันไปใช้รถส่วนตัว เป็นสาเหตุให้ต้องควบคุมต้นทุน จึงเลือกวิ่งรถเฉพาะในช่วงเวลาเร่งด่วน
ไม่มีอำนาจตรง แต่มีอำนาจโดยอ้อม
คณะกรรมการควบคุมการขนส่งประจำจังหวัดขอนแก่น มีอำนาจในการจัดการ ปัจจุบันกำลังพิจารณาเส้นทางสายสองแถวในเมืองใหม่ตามนโยบายคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง
ขาดแหล่งเรียนรู้ฟรี นอกห้องเรียน
แหล่งเรียนรู้ที่พื้นฐานที่สุดของเมือง ซึ่งเทศบาลมีอยู่ 5 แห่ง โดยต่ำกว่ามาตรฐานของ IFLA ที่ประเมินว่าควรมีอย่างน้อย 8 แห่ง นอกจากนี้สภาพของห้องสมุดยังมีข้อจำกัดเรื่องความหลากหลาย ความทรุดโทรม รวมถึงระยะเวลาการเปิดให้บริการ
สนามเด็กเล่นอันตราย (มาก!)
สนามเด็กเล่นทั้ง 8 แห่งในเขตเทศบาล มีสภาพที่ต่ำกว่ามาตรฐานที่กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นกำหนด รวมถึงรูปแบบของสนามก็เน้นเครื่องเล่น มากกว่าพื้นที่เล่นที่ส่งเสริมพัฒนาการของเด็กได้ดีกว่า
รั้วบึงแก่นนครทรุดโทรม
โครงสร้างชำรุด เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ และทำให้เกิดทัศนะที่ไม่สวยงาม รวมถึงรั้ว ณ ปัจจุบัน ก็ไม่ได้ป้องกันอะไรได้ มีการใช้พื้นที่ผิดวัตถุประสงค์และรุกล้ำหลายบริเวณ และมีจุดอับสายตาที่เสี่ยงต่อการเกิดอาชญากรรมหลายแห่ง
หัวใจวาย ตายแน่นอน
มีพื้นที่เสี่ยงประมาณ 20% ที่หากเกิดการหยุดเต้นของหัวใจเฉียบพลันอาจทำให้ผู้ป่วยได้รับการช่วยเหลือไม่ทัน รวมถึงมีพื้นที่ทางเข้าบึงแก่นนครเพียง 9.53% ซึ่งถือว่าเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก (เข้าถึงยาก)
พื้นที่สีเขียวน้อย ไกลบ้าน
นับเฉพาะพื้นที่สีเขียวใช้งานได้จริงมีสัดส่วน 6.17 ตร.ม. ต่อคน ซึ่งต่ำกว่ามาตรฐานที่ WHO กำหนดไว้คือ 9 ตร.ม. ต่อคน สวนที่มีอยู่เดินทางไปลำบาก ใช้เวลาเดินทางนาน โดยพบว่ามีพื้นที่เมือง 39.46% ที่เข้าไม่ถึงสวนด้วยการเดินในระยะ 500 ม.
เมืองร้อนจัด
ปัจจุบันหน้าร้อน (1 ก.พ. – 15 พ.ค.) ปี 2566 มีอุณภูมิพื้นผิวสูงสุดอยู่ที่ 47 °C ต่ำสุดอยู่ที่ 31 °C หน้าหนาว (1 พ.ย. – 31 ม.ค.) ปี 2566 มีอุณภูมิพื้นผิวสูงสุดอยู่ที่ 41 °C ต่ำสุดอยู่ที่ 26 °C ถ้าไม่มีแอร์ จะหนีร้อนเดินเข้าป่าใน มข. และโดดลงน้ำในบึงเท่านั้น
ห้องน้ำไม่สะอาด
ลงทุนก่อสร้างห้องน้ำในสวนสาธารณะจำนวน 18 จุด รวมจำนวนห้องมากถึง 178 ห้อง คิดเป็นมูลค่าการลงทุนประมาณ 35.6 ล้านบาท แต่น่าเสียดายที่มีห้องน้ำจำนวน 57 ห้องที่ใช้งานไม่ได้จริง “คิดเป็นมูลค่าลงทุนที่สูญเปล่า”ประมาณ 11.4 ล้านบาท
ภาษาอังกฤษ
จากข้อมูลคะแนนสอบ ONET นักเรียนในโรงเรียนสังกัดเทศบาล คะแนนภาษาอังกฤษมีสัดส่วนที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยประเทศมากที่สุด ถือเป็นกำแพงสำคัญของการเรียนรู้ในอนาคตที่เยาวชนต้องได้รับการพัฒนาต่อไป
รายได้กระจุก
กิจกรรมส่วนใหญ่เกิดขึ้นในห้าง หรือในพื้นที่เมืองเดิม ดังนั้น นอกเหนือจากเทศกาลประจำปี ตลาดคนเดิน และร้านอาหาร ร้านเหล้าที่ต้องเสียเงินแล้ว นครขอนแก่นขาดกิจกรรมทางเลือกให้ชุมชนได้ออกมาใช้ชีวิตโดยไม่เสียเงิน
จัดงานใหญ่ ใครได้ประโยชน์?
คืนสภาพเดิมที่แท้จริง นอกจากเม็ดเงินที่สะพัดตามข่าวแล้ว เทศกาลทุกเทศกาล ไม่มีอะไรเหลือหลังงานให้ชาวนครขอนแก่นได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีมากขึ้น นอกจากขยะ 30 ตัน ที่สร้างงานให้เจ้าหน้าที่ และเป็นแบบนี้ทุกครั้ง ทุกปี
ภูเขาขยะกลางเมือง
เนื่องจากศักยภาพของเทศบาลไม่สามารถเก็บรวบรวมขยะได้หมดด้วยข้อจำกัดเรื่องจำนวนรถขยะ จำนวนพนักงานเก็บขยะ และเทคโนโลยีที่จำกัด จึงทำให้ไม่สามารถบริหารจัดการขยะได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ฝุ่นควันเยอะขึ้น
การขยายตัวของเมือง และการเติบโตของอุตสาหกรรมและเกษตรกรรมรอบเมืองนอกเมืองปัจจุบันพบค่าฝุ่นที่เกินเฉลี่ย 5 วันต่อเดือน โดยพบมีจุดตรวจวัดของรัฐเพียง 8 จุดยังไม่มีระบบแจ้งเตือน รวมถึงยังไม่มีมาตรการช่วยเหลือที่ชัดเจน
น้ำท่วมซ้ำซาก
แผนที่น้ำท่วมซ้ำซากเผยแพร่ครั้งแรกช่วงปี 2563 จนตอนนี้ 2567 ก็ยังใช้แผนที่เดิมที่มีจุดท่วมซ้ำซากอยู่ 12 จุด รวมพื้นที่ 4.2 ตร.กม. ซึ่งท่วมปีละ 2 ครั้ง ครั้งละ 2 วันโดยเฉลี่ย
ขาดแคลนกล้องวงจรปิด
จากการลงพื้นที่ ทุกชุมชนต้องการกล้องวงจรปิดในเขตชุมชน เนื่องจากปัจจุบันไม่มี หรือถ้ามีก็ใช้ไม่ได้ รวมถึงไม่ได้เป็นกล้องที่มีเป้าหมายเพื่อรักษาความปลอดภัย แต่เป็นกล้องที่เน้นการบริหารจัดการการจราจรเป็นหลัก
คนไร้บ้าน
ปัจจุบันมีสถานที่และหน่วยงานที่รับผิดชอบ แต่สถานที่ดังกล่าวไม่อาจแก้ไขปัญหาได้จริงเนื่องจากอยู่ไกลจากกลางเมือง ขัดแย้งกับพฤติกรรม รวมถึงการจัดการยังไม่เป็นไปตามหลักปฏิบัติที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาในระยะยาว
ตลาดร้าง - ค่าครองชีพสูง
ตลาดหนองไผ่ล้อมที่ปัจจุบันยังไม่มีการใช้ประโยชน์ที่เต็มประสิทธิภาพ รวมถึงค่าครองชีพที่ค่าอาหารปัจจุบันถือเป็นสัดส่วนรายจ่ายที่สูงมาก
ขอโครงการยากเย็น
กว่าขอคิดเห็นของประชาชนจะได้รับการตอบสนองต้องผ่านหลายขั้นตอน ไม่มีอะไรรับประกันว่าโครงการที่ประชาชนต้องการจะได้รับการตอบสนอง บางโครงการขอมาแล้ว 8 ปี ปัจจุบันก็ยังไม่ได้
ไม่เป็นมิตร
สถานที่ราชการ หรือแม้แต่สวนสาธารณะถูกห่วงห้าม มีความยุ่งยากในการขออนุญาต และขาดการอำนวยความสะดวก รวมถึงการออกแบบสถานที่ราชการที่เจ้ายศเจ้าอย่าง ไม่มีที่ให้ประชาชนได้ใช้เวลา เอาความสะดวกข้าราชการเป็นที่ตั้ง
เว็บไซต์ใช้ไม่ได้
รูปแบบเว็บไซต์ไม่ได้รับการออกแบบให้เป็นมิตรกับผู้ใช้งาน และยังมีปัญหาเรื่องการเข้าไม่ได้อยู่บ่อยครั้ง มีภาพลักษณ์การปิดข้อมูลแม้แต่ สท. ยังเข้าไม่ถึงข้อมูลรัฐ ข้อมูลไม่อัพเดท มีคดีความฟ้องร้องระหว่างประชาชนกับเทศบาลให้เปิดเผยข้อมูล